- นกเงือก
นกเงือก เป็นนกขนาดใหญ่ ที่อยู่ในวงศ์ Bucerotidae ในอันดับนกตะขาบ (Coraciiformes) (บางข้อมูลซึ่งเป็นข้อมูลเก่าจะจัดให้อยู่ในอันดับ Bucerotiformes ซึ่งเป็นอันดับเฉพาะของนกเงือกเอง แต่ปัจจุบันนับเป็นชื่อพ้อง โดยนับรวมนกเงือกดินเข้าไปด้วย[1][2]) เป็นนกที่เชื่อว่าถือกำเนิดมานานกว่า 45 ล้านปีมาแล้ว
ลักษณะ[แก้]
นกเงือก เป็นนกป่าขนาดใหญ่ ที่มีจุดเด่น คือ จะงอยปากหนาที่ใหญ่และมีโหนกทางด้านบนเป็นโพรง ภายในโพรงมีเนื้อเยื่อคล้ายฟองน้ำ[3] ส่วนใหญ่ลำตัวมีสีขาวดำหางยาว ปีกกว้างใหญ่ บินได้แข็งแรง เวลาบินจะโบกปีกช้า ๆ กินผลไม้เป็นอาหารหลัก และสัตว์เลื้อยคลานเล็ก ๆ เป็นอาหารเสริม ทำรังในโพรงไม้ ตัวเมียจะเข้าไปกดไข่ในโพรงโดยใช้โคลนและมูลปิดปากโพรงไว้ เหลือเพียงช่องพอให้ตัวผู้อื่นส่งอาหารเข้าไปได้ เมื่อลูกนกโตพอแล้ว จึงเจาะโพรงออกมา[4]
และจากจะงอยปากและส่วนหัวที่ใหญ่เหมือนโหนกหรือหงอนนั้น ทำให้นกเงือกถูกใช้ในเชิงสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมมาแต่โบราณ โดยใช้ทำเป็นเครื่องประดับของชนเผ่าต่าง ๆ[5]
ชนิด[แก้]
พบทั่วโลกมี 55 ชนิด[6]ใน 14 สกุล (ดูในตาราง) มีการแพร่กระจายอยู่ในแถบเขตร้อน ของทวีปแอฟริกา และเอเชีย
การทำรัง[แก้]
นกเงือก มีลักษณะการทำรังที่แปลกจากนกอื่น คือ เมื่อถึงฤดูกาลทำรัง นกคู่ผัวเมียจะพากันหารัง ซึ่งได้แก่ โพรงไม้ตามต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นยาง ที่อยู่ในที่ลับตา เมื่อตัวเมียเข้าไปอยู่ในโพรง จะทำความสะอาดแล้วเริ่มปิดปากโพรง ด้วยวัสดุต่าง ๆ เช่น ดิน เปลือกไม้ ตัวเมียจะขังตัวเองอยู่ภายในเพื่อออกไข่และเลี้ยงลูก
แสดงความสมบูรณ์ของป่า[แก้]
นกเงือก เป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติได้ประการหนึ่ง เนื่องจากจะอาศัยอยู่ในป่าหรือพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เท่านั้น เนื่องจากนกเงือกเป็นนกขนาดใหญ่ถึงใหญ่มาก กินทั้งผลไม้และสัตว์เป็นอาหาร อีกทั้งธรรมชาติในการหากินต้องอาศัยพื้นที่ป่าที่กว้าง[7] และยังเป็นตัวแพร่กระจายพันธุ์พืชชนิดต่าง ๆ ในป่าได้อย่างดีอีกด้วย เนื่องจากเป็นนกที่กินผลไม้ชนิดต่าง ๆ ได้ถึง 300 ชนิด และทิ้งเมล็ดไว้ตามที่ต่าง ๆ[3]
นกเงือกในประเทศไทย[แก้]
ประเทศไทยมีนกเงือก 13 ชนิด ด้วยกัน โดยในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ซึ่งมีอาณาเขตส่วนหนึ่งอยู่ใน จังหวัดนครราชสีมา มี 4 ชนิด ได้แก่ นกกก หรือ นกกะวะ หรือ นกกาฮัง นกเงือกสีน้ำตาล นกเงือกกรามช้าง หรือ นกกู่กี๋ และนกแก๊ก หรือนกแกง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา พบ 9 ใน 12 ชนิดของนกเงือกที่พบในไทย ได้แก่ นกเงืกปากย่น นกเงือกชนหิน นกแก๊ก นกกก นกเงือกหัวหงอก นกเงือกปากดำ นกเงือกหัวแรด นกเงือกดำ นกเงือกกรามช้าง[8]
รายชื่อนกเงือกและที่ชนิดนกเงือกที่พบในประเทศไทย[แก้]
- นกกก หรือ นกกะวะ หรือ นกกาฮัง (ชื่อภาษาอังกฤษ: Great hornbill; ชื่อวิทยาศาสตร์: Buceros bicornis)
- นกเงือกหัวแรด (ชื่อภาษาอังกฤษ: Rhinoceros hornbill; ชื่อวิทยาศาสตร์: Buceros rhinoceros)
- นกเงือกหัวหงอก (ชื่อภาษาอังกฤษ: White-crowned hornbill; ชื่อวิทยาศาสตร์: Berenicornis comatus)
- นกชนหิน (ชื่อภาษาอังกฤษ: Helmeted hornbill; ชื่อวิทยาศาสตร์: Rhinoplax vigil)
- นกแก๊ก หรือ นกแกง (ชื่อภาษาอังกฤษ: Oriental pied hornbill; ชื่อวิทยาศาสตร์: Anthracoceros albirostris)
- นกเงือกดำ (ชื่อภาษาอังกฤษ: Black hornbill; ชื่อวิทยาศาสตร์: Anthracoceros malayanus)
- นกเงือกคอแดง (ชื่อภาษาอังกฤษ: Rufous-necked hornbill; ชื่อวิทยาศาสตร์: Aceros nipalensis)
- นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว (ชื่อภาษาอังกฤษ: Austen's brown hornbill; ชื่อวิทยาศาสตร์: Anorrhinus austeni)
- นกเงือกสีน้ำตาล (ชื่อภาษาอังกฤษ: Tickell's brown hornbill; ชื่อวิทยาศาสตร์: Anorrhinus tickelli)
- นกเงือกปากดำ (ชื่อภาษาอังกฤษ: Bushy-crested hornbill; ชื่อวิทยาศาสตร์: Anorrhinus galeritus)
- นกเงือกปากย่น (ชื่อภาษาอังกฤษ: Wrinkled hornbill; ชื่อวิทยาศาสตร์: Aceros corrugatus)
- นกเงือกกรามช้าง หรือ นกกู่กี๋ (ชื่อภาษาอังกฤษ: Wreathed hornbill; ชื่อวิทยาศาสตร์: Rhyticeros undulatus)
- นกเงือกกรามช้างปากเรียบ (ชื่อภาษาอังกฤษ: Plain-pouched hornbill; ชื่อวิทยาศาสตร์: Rhyticeros subruficollis)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น